ประวัติความเป็นมา

สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดระนอง


               เดิมในจังหวัดระนอง มีสถานีวิทยุกระจายเสียงของเอกชนอยู่ ๑ สถานี แต่เนื่องจากสถานีวิทยุกระจาย เสียงแห่งนั้นตั้งขึ้นอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ และคณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงได้มีมติให้หยุดส่งกระจายเสียง ให้ผู้ดำเนินกิจการถอนเครื่องส่งคืนไป ต่อมาได้มีการร้องขอให้จัดตั้งสถานีวิทยุในพื้นที่ ทางจังหวัดระนองโดย ร้อยตำรวจโท ชาญ เวชเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง ได้มีหนังสือลงวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๑๖ ขอให้กรมประชาสัมพันธ์จัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงขึ้น (เอกสารแนบ ๑)


              กรมประชาสัมพันธ์โดย นายรักษ์ศักดิ์ รัตนพานิช รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ได้มีบันทึกด่วนมาก ลงวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๑๖ ขออนุมัติจัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียง ขนาด ๑๐ กิโลวัตต์ ที่จังหวัดระนอง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาและลงมติอนุมัติให้จัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ขนาด ๑๐ กิโลวัตต์ ขึ้นที่จังหวัดระนอง เมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๑๗ ทางจังหวัดระนองโดยเทศบาลเมืองระนองได้อนุญาตให้กองประชาสัมพันธ์เขตสุราษฎร์ธานี  ใช้อาคาร สถานที่ และเสาอากาศที่มีอยู่ได้ (เอกสารแนบ ๒)


              ในขั้นแรกเมื่อ กองประชาสัมพันธ์เขตสุราษฎร์ธานี  ได้รับมอบหมาย จึงได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข ห้องส่ง ห้องผู้ประกาศ ห้องควบคุมระดับเสียง และเครื่องทำความเย็น และได้นำเครื่องส่งขนาด ๕๐๐ วัตต์ มาติดตั้งเพื่อส่งกระจายเสียงไปพลางก่อนโดยใช้ความถี่ ๑,๑๔๐ กิโลเฮิร์ท ในระบบ A.M. และได้ติดตั้งเครื่องส่ง F.M. ขนาด ๑๐๐ วัตต์ ความถี่ ๑๐๐ เมกกะเฮิร์ท โดยเริ่มออกอากาศในเดือน มิถุนายน ๒๕๑๗ ต่อมา กองช่างและทะเบียนวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ ได้กำหนดให้สถานีวิทยุกระจายเสียงจังหวัดระนอง ระบบ A.M. ใช้ความถี่ ๑,๖๐๐ กิโลเฮิร์ท  ระบบ F.M. ใช้ความถี่ ๑๐๗.๕ เมกกะเฮิร์ท และได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ ณ บริเวณใกล้สำนักงานเทศบาลเมืองระนอง เมื่อวันศุกร์ ที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๑๗ โดยมี พลตรี ประกอบ จารุมณี อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เป็นประทานในพิธี และมี นายวิเชียร บุณยประสาท ปฏิบัติหน้าที่นายสถานีวิทยุกระจายเสียงจังหวัดระนอง คนแรก แบ่งการส่งกระจายเสียงเป็น ๒ ภาค ภาคเช้า เริ่มตั้งแต่เวลา ๐๖.๐๐ – ๑๔.๐๐ น. ภาคค่ำ เริ่มตั้งแต่เวลา ๑๗.๐๐ – ๒๒.๐๐ น. (เอกสารแนบ ๓)

                  ต่อมากรมประชาสัมพันธ์ได้ดำเนินการสร้างเครื่องส่งมีกำลังส่ง ๑๐ กิโลวัตต์ เพื่อมาติดตั้งทดแทนเครื่องส่งเดิม แต่เนื่องจากอาคารที่ทำการคับแคบ ไม่สามารถขยายและดำเนินการได้สะดวก กรมประชาสัมพันธ์ จึงได้ดำเนินการติดต่อกับทางจังหวัดระนอง ขออนุญาตใช้ที่ดินเพื่อก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีวิทยุกระจายเสียง อาคารบ้านพักของข้าราชการและเจ้าหน้าที่เป็นการถาวร ซึ่งจังหวัดระนองแจ้งว่า บริษัท บางริ้นติน เดรดยิ่ง จำกัด ยินดีที่จะมอบที่ดินในเขตประทานบัตรเลขที่ ๙๕๔๔/๗๐๖๖ จำนวน ๖๖ ไร่ โดยทิศตะวันออก จดถนเพชรเกษม ระยะ ๔๘๐ เมตร ทิศตะวันตก จดที่ดินประทานบัตร บริษัทไซมิสติน จำกัด ระยะ ๓๒๐ เมตร ทิศเหนือ จดที่ดินโรงเรียนพลตำรวจ ระยะ ๓๐๐ เมตร ทิศใต้ จดที่ดินประทานบัตร บริษัทไซมิสติน จำกัด ระยะ ๒๖๐ เมตร ให้กับสถานีวิทยุกระจายเสียงจังหวัดระนอง ในการก่อสร้างที่ทำการสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดระนอง ๑๐ กิโลวัตต์ (เอกสารแนบ ๔)


             วันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๒๐ กรมประชาสัมพันธ์ โดย นายกำจัด กีพานิช รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ได้ลงนานในสัญญาจ้าง กับ บริษัท ศิลปสากล จำกัด จ้างเหมาก่อสร้างอาคารสถานีวิทยุกระจายเสียง ๑๐ กิโลวัตต์ จังหวัดระนอง ศูนย์ประชาสัมพันธ์เขต ๓ สุราษฎร์ธานี (กองประชาสัมพันธ์เขตสุราษฎร์ธานีเดิม) วงเงิน ๑,๔๐๐,๐๐๐.- บาท ระยะเวลาก่อสร้างรวม ๒๑๖ วัน และแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๒๐ ตัวอาคารเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียว มีเนื้อที่ใช้สอย ๕๒๘ ตารางเมตร แบ่งออกเป็น ๗ ห้อง คือ ห้องเครื่องส่ง ห้องแสดง ห้องรับแขก ห้องผู้ประกาศ ห้องพัสดุ ห้องธุรการ และห้องบังคับเสียง และได้ดำเนินการย้ายเครื่องส่ง อุปกรณ์ห้องส่งจากที่เดิมมาดำเนินการติดตั้ง ณ อาคารหลังใหม่  แล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๑  และได้ทำพิธีเปิดอาคารสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดระนอง ศูนย์ประชาสัมพันธ์เขต ๓ สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๒๑ โดย นายกำจัด กีพานิช อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เป็นประธาน แบ่งการส่งกระจายเสียงเป็น ๒ ภาค ภาคเช้า เริ่มตั้งแต่เวลา ๐๖.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. ภาคค่ำ เริ่มตั้งแต่เวลา ๑๗.๐๐ – ๒๒.๓๐ น. ออกอากาศด้วยกำลังส่ง ๑๐ กิโลวัตต์ ความถี่ ๑,๖๐๐ กิโลเฮิร์ท เสาอากาศสูง ๔๖ เมตร รัศมีรอบทิศทางประมาณ ๖๐ กิโลเมตร (เอกสารแนบ ๕) ในห่วงเวลาเดียวกัน สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดระนอง ได้รับงบประมาณในการก่อสร้าง อาคารเครื่องยนต์กำเนิดไฟฟ้าสำรอง บ้านพักข้าราชการ จำนวน ๔ หลัง ปี พ.ศ. ๒๕๒๗ ได้รับงบประมาณก่อสร้างบ้านพักข้าราชการ จำนวน ๒ หลัง ปี พ.ศ.๒๕๓๗ จำนวน ๑ หลัง ปัจจุบันบ้านพักดังกล่าวอยู่ในสภาพที่ชำรุดทรุดโทรดตามอายุ การใช้งานที่มีมาอย่างยาวนานกว่า ๔๐ ปี ซึ่งบางหลังก็ไม่สามารถเข้าพักอาศัยได้


              วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ ได้มีการพิจารณาการขอขึ้นทะเบียนที่ดินของรัฐจากผู้แทนจาก          ส่วนราชการ เห็นควรให้กรมประชาสัมพันธ์ใช้ที่ดินตามความจำเป็นในขณะนั้น ๔๒ ไร่ ๔๓ ตารางวา ทิศเหนือ จดที่ดินรกร้างว่างเปล่า ระยะ ๒๐๖.๓๗ เมตร ทิศใต้จดที่ดินรกร้างว่างเปล่า ระยะ ๑๗๒.๖๘ เมตร ทิศตะวันออก จดถนนเพชรเกษม ระยะ ๔๓๕.๑๘ เมตร ทิศตะวันตก จดที่ดินรกร้างว่างเปล่า ระยะ ๓๒๐.๖๖ เมตรและให้ตัดพื้นที่ส่วนหนึ่ง จำนวน ๒๔ ไร่ ๒๙ ตารางวา (เอกสารแนบ ๖) ขึ้นทะเบียนให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดระนอง ปี พ.ศ.๒๕๕๙ กรมประชาสัมพันธ์ ได้อนุญาตให้กระทรวงศึกษาธิการ ใช้พื้นที่ประมาณ ๒ ไร่ เพื่อก่อสร้าง ห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” (เอกสารแนบ ๗)


              ปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๗ สำนักประชาสัมพันธ์เขต ๕ สุราษฎร์ธานี ได้รับงบประมาณในการก่อสร้างอาคารที่ทำการหลังใหม่ของ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดระนอง โดย นายอภินันท์ จันทรังษี อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ได้ลงนามในสัญญาว่าจ้าง ห้างหุ้นส่วนจำกัด เพชรนิภาการโยธา เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๗ ให้ดำเนินการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดระนอง วงเงิน ๗,๙๗๙,๐๐๐.- บาท ระยะเวลาก่อสร้างรวม ๒๔๐ วัน แล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๘  ตัวอาคารเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียวยกพื้น มีเนื้อที่ใช้สอย ๓๙๒ ตารางเมตร แบ่งออกเป็น ๑๐ ห้อง คือ ห้องเครื่องส่ง ห้องผู้ประกาศ ห้องบังคับเสียง ห้องผู้อำนวยการ ห้องหัวหน้าฝ่ายบริหาร ห้องหัวหน้าฝ่ายเทคนิค ห้องฝ่ายข่าว ห้องธุรการ ห้องประชุม และห้องโถง ซึ่งได้ดำเนินการย้ายเครื่องส่ง อุปกรณ์ห้องส่งจากที่เดิมมาดำเนินการติดตั้ง ณ อาคารหลังใหม่ แล้วเสร็จเมื่อเดือน กรกฎาคม ๒๕๕๘ และได้ทำพิธีเปิดอาคารสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดระนอง สำนักประชาสัมพันธ์เขต ๕ สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๕๙ โดย นายอภินันท์ จันทรังษี อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เป็นประธาน (เอกสารแนบ ๘) ออกอากาศส่งกระจายเสียงตั้งแต่เวลา ๐๕.๐๐ – ๒๔.๐๐ น. ทุกวันออกอากาศในระบบ A.M. ความถี่ ๗๘๓ กิโลเฮิร์ท กำลังส่ง ๑๐ กิโลวัตต์  เสาอากาศสูง ๑๐๐ เมตร รัศมีรอบทิศทางประมาณ ๗๐ กิโลเมตร และ ระบบ F.M. ความถี่ ๑๐๗.๒๕ เมกกะเฮิร์ท กำลังส่ง ๑ กิโลวัตต์ จากอาคารเครื่องส่งเขาเมืองสูง ตำบลบางนอน จังหวัดระนอง       


ไฟล์เอกสารประกอบ
|

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar